กรณีศึกษาในไทย

การรณรงค์และการจัดการด้าน CSR ในประเทศไทย

ภาครัฐ

ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

เมื่อปี 2545 ตลาด หลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.)ได้ประกาศใช้ข้อพึงปฏิบัติสำหรับหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี ซึ่งเรียกกันว่าเป็นเรื่องของบรรษัทภิบาล (Corporate Governance) และต่อมาได้นำเอาหลักการของ OECD Principles of Corporate Governance2004                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                       และหลักการของธนาคารโลกในโครงการ Corporate Governance – Reports on the Observance of Standards and Codes (CG – ROSC) มาปรับรวมกัน แล้วรณรงค์ในเรื่องนี้อีกครั้งหนึ่งในปี 2549 ซึ่งประกอบด้วยสาระสำคัญ 5 หมวด ด้วยกัน คือ สิทธิของผู้ถือหุ้น / การปฏิบัติต่อผู้ถือหุ้นอย่างเท่าเทียมกัน / บทบาทของผู้มีส่วนได้เสีย / การเปิดเผยข้อมูลและความโปร่งใส / ความรับผิดชอบของคณะกรรมการ

แนวความคิดที่จะรณรงค์ในเรื่อง CGนี้ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และ ตลาดหลักทรัพย์ (กลต)เสนอให้มีความรับผิดชอบต่อสังคมที่ให้ใช้ความหมายของคำว่า ผู้มีส่วนได้เสีย (Stakeholder) ที่มีความหมายที่กว้างกว่า ผู้ถือหุ้น คณะกรรมการ ผู้บริหาร พนักงาน โดยอยากให้มีความหมายรวมความไปถึง(โดยตรง) ครอบครัวพนักงาน ชุมชนที่องค์กรตั้งอยู่ (รวมถึงสิ่งแวดล้อม) ลูกค้า คู่ค้า คู่แข่งขัน และประชาชนทั่วไป โดยเรียกแนวทางนี้ว่า บรรษัทบริบาล ซึ่งหมายถึง การดูแลรักษาไม่เฉพาะในส่วนที่เป็นกิจการ แต่ยังขยายกว้างออกไปครอบคลุมในส่วนที่เป็นผู้มีส่วนได้เสียทั้งหมดที่อยู่ โดยรอบกิจการ ด้วยเงื่อนไขของสำนึกรับผิดชอบต่อสังคมในฐานะพลเมืองบรรษัท (Corporate Citizen) การมีคุณธรรมโดยคำนึงถึงผู้มีส่วนได้เสียทั้งในและนอกกิจการอย่างเท่าเทียม กัน บรรษัทบริบาล จึงเป็นกลไกการดำเนินงานในกิจการที่เชื่อมโยงสู่กระบวนการภายนอก ที่จัดให้มีขึ้นภายใต้จุดมุ่งหมายที่ต้องการสร้างประโยชน์แก่กิจการและส่วน รวมบนพื้นฐานของการไม่เบียดเบียนกัน แนวคิดนี้ได้รับการสนับสนุนผลักดันให้มีการจัดทำเป็นยกร่าง “ หลักการความรับผิดชอบต่อสังคมของกิจการ” (www.thaicsr.com, อ้างแล้ว)

แนวคิดที่จะให้มีการเพิ่มเติมความรับผิดชอบต่อผู้มีส่วนได้เสีย ที่มากกว่านิยามเดิม นั้น ตรงกับข้อสังเกตที่เอก ตั้งทรัพย์วัฒนา ได้ให้ความเห็นต่อเรื่องของ CG ว่า เป็นแนวคิดที่แคบเกินไป เพราะแนวคิดนี้ในวงกว้างที่สุดแล้ว อาจจะเอื้อแต่เพียงแค่ผู้ถือหุ้นของบรรษัท (Shareholders) มากกว่าที่จะมีการปกครองให้ครอบคลุมไปถึงผู้มีส่วนได้เสีย(Stakeholders)และ กลุ่มอื่นๆในสังคม ดังนั้น แนวความคิดเรื่องความรับผิดชอบต่อสังคมของบรรษัทจึงได้ถูกเสนอขึ้นมาเพื่อ เป็นทางเลือกในการกำกับดูแลบรรษัทข้ามชาติ เนื่องจากจะมีการคำนึงถึงผู้มีส่วนได้เสียในสังคมวงกว้างมากว่า (เอก ตั้งทรัพย์วัฒนา,2548,อ้างแล้ว)

ล่าสุด ตลท.ได้จัดตั้ง “สถาบันธุรกิจเพื่อสังคม / Corporate Social Responsibility Institute : CSRI” เมื่อเดือนสิงหาคม 2550 เพื่อส่งเสริมให้บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ดำเนินการเกี่ยวกับ CSR เพิ่มมากขึ้น และได้วางกรอบงานที่จะจัดทำรายงานด้าน CSR ( CSR report) เพื่อ เป็นรายงานประจำปีของตลาดหลักทรัพย์ (นงราม วงษ์วานิช,รองผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย สายงานบริหาร รับผิดชอบดูแลธุรกิจเพื่อสังคม)

 กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์

กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.)ได้จัดตั้ง” ศูนย์ส่งเสริมธุรกิจเพื่อสังคม (Corporate Social Responsibility Promotion Center : CSR)”   เมื่อมิถุนายน 2550 เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้ภาคธุรกิจได้เข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาสังคม โดยประสานงานการให้เพื่อสังคม (Philanthropy) ของมูลนิธิกองทุนไทย  และแนวทางจิตอาสาพนักงาน(Volunteer) ของเครือข่ายความร่วมมือระหว่างภาคธุรกิจและภาคประชาสังคมเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน(The NETWORK ประเทศไทย)  และ เข็มทิศธุรกิจเพื่อสังคม (คณะทำงานส่งเสริมความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมของบริษัทจดทะเบียน ของ กลต.) เพื่อสร้างความเข้าใจและเพิ่มทักษะการปฏิบัติ โดยยังจะสร้างความรู้ความเข้าใจให้เป็นที่แพร่หลายมากกว่าการรู้จักแต่ใน องค์กรขนาดใหญ่ในกรุงเทพฯแต่เพียงอย่างเดียว (ประชาชาติธุรกิจ,17 มีนาคม 2551)

กระทรวงอุตสาหกรรม

กระทรวง อุตสาหกรรม ได้กำหนดแนวปฏิบัติสำหรับการเตรียมความพร้อมของผู้ประกอบการและทุกภาคส่วน ที่เกี่ยวข้อง ในการดำเนินการตามมาตรฐานสากล เรื่องความรับผิดชอบต่อสังคม ISO 26000 ที่จะประกาศใช้ในปี 2552 โดยให้การดำเนินธุรกิจและอุตสาหรรม คำนึงถึงหลักการ 7 ประการ(www.tisi.go.th) คือการใส่ใจต่อสิ่งแวดล้อม (Environment) การเคารพสิทธิมนุษยชน(Human right) การดูแลพนักงานด้วยดี (Labour practices) การมีจริยธรรมขององค์กร (Organization governance) การดำเนินธุรกิจด้วยความเป็นธรรม(Fair operating practices) การไม่เอาเปรียบผู้บริโภค(Consumer issues) และการร่วมพัฒนาสังคม(Social development)

โรงพยาบาลอภัยภูเบศร์

เป็น โรงพยาบาลชุมชนในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข ที่มุ่งจะเป็นสถาบันพยาบาลแพทย์แผนไทย ได้สนับสนุนให้ชุมชนบ้านดงบัง ต.ดงขี้เหล็ก อ.เมือง ปราจีนบุรี ซึ่งเป็นชุมชนที่โรงพยาบาลตั้งอยู่  ปลูก สมุนไพรให้กับโรงพยาบาล ซึ่งมุ่งรักษาในด้านสมุนไพร ยาไทย จนสร้างความเป็นหนึ่งเดียวระหว่างชุมชนกับโรงพยาบาล(กองบรรณาธิการประชาชาติ ธุรกิจ,2550)

เป็นตัวอย่างของส่วนราชการที่เป็นหน่วยปฏิบัติงาน ไม่ใช่งานรณรงค์เชิงนโยบาย และในกรณีนี้ยังจะมันัยยะที่เชื่อมโยงกับองค์กรที่ดำเนินกิจกรรมเพื่อสังคม โดยกิจการหรือที่เรียกว่า CSR-as-process

การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.)

ในคราวที่เครือข่ายประชาชนภาคตะวันออก ได้ยื่นข้อเรียกร้องต่อรัฐบาล (พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี)ให้ออกประกาศให้จังหวัดระยองเป็นพื้นที่ควบคุมมลพิษ เพื่อจัดการต่อปัญหาผลกระทบมลภาวะต่างๆที่เกิดจากโรงงานอุตสาหกรรมทั้งใน พื้นที่ของ กนอ. เขตประกอบการอุตสาหกรรม และที่ตั้งโดยทั่วไป (ในสองกรณีหลังนี้อยู่ในการดูแลของกระทรวงอุตสาหกรรม) และรัฐบาลในขณะนั้นได้อาศัยอำนาจของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ แต่งตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นหลายคณะเพื่อรับผิดชอบในการดำเนินลดการปล่อยมล ภาวะ รวมทั้งดำเนินการด้านอื่นๆที่เกี่ยวข้อง

ในส่วนของ กนอ.ซึ่งเป็นเป็นหน่วยงานหลักที่จะต้องร่วมดำเนินงาน จึงได้เชิญชวนผู้ประกอบการทั้งในพื้นที่และนอกพื้นที่เขตนิคมอุตสาหกรรมมาบ ตาพุด เช่น ปตท SCG จัดตั้งมูลนิธิกองทุนเพื่อคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อมชุมชนเมืองมาบตาพุดและชุมชนเทศบาลตำบลบ้านฉาง (www.ieat.go.th)โดย มีวัตถุประสงค์เพื่อดำเนินการติดตาม ตรวจสอบ และเฝ้าระวังปัญหามลพิษและสิ่งแวดล้อมต่างๆที่อาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพอนามัย ของประชาชนในเขตพื้นที่เทศบาลเมืองมาบตาพุดและเทศบาลตำบลบ้านฉาง โดยในการดำเนินงานตามโครงการนี้ กนอ.ได้ให้ความสนใจที่จะร่วมดำเนินงานกับผู้นำชุมชน ควบคู่ไปกับการประสานกับผู้บริหารในองค์กรปกครองท้องถิ่นและผู้ว่าราชการ จังหวัดระยอง

ภาคเอกชน

กิจการเอกชนระดับบรรษัทข้ามชาติ

(1)บริษัท ไพรซ์วอเตอร์เฮ้าส์คูเปอร์ จำกัด (PWC)/(ที่ปรึกษา) ได้ส่งพนักงานลงพื้นที่เกาะลิบง จ.ตรัง เกาะปู จ.กระบี่ เพื่อฟื้นฟูชีวิตและพัฒนาชุมชนโดยความร่วมมือกับเครือข่ายฟื้นฟูอันดามัน (Save Andaman) สร้างเป็นกิจกรรมโครงการเส้นทางสู่การพัฒนาผู้นำองค์กรและชุมชน เป็นโครงการของบริษัทที่มีสาขาทั่วโลก (กองบรรณาธิการประชาชาติธุรกิจและอนันตชัย ยูรประถม ,2550)

(2)บริษัท เมอร์ก จำกัด(ธุรกิจยา)ได้ร่วมกับมูลนิธิรักษ์ไทยสร้างเสริมภาวะผู้นำเยาวชน ที่อุดรธานี และหนองคาย(กองบรรณาธิการประชาชาติธุรกิจ ,เพิ่งอ้าง)

(3) บริษัท สตาร์บัคส์ คอฟฟี่(ประเทศไทย)จำกัด(อาหารและเครื่องดื่ม)ใน ไทยสตาร์บัคส์ ได้สนับสนุนชาวไร่กาแฟที่แม่ฮ่องสอน เปิดตัวแบรนด์ ชื่อ ม่วนใจ๋ เบลนด์ รวมทั้งดำเนินส่งเสริมคุณภาพชีวิตของชาวไร่คู่สัญญาตามกรอบที่เคยดำเนินการ   มาแล้วทั่วโลก (กองบรรณาธิการประชาชาติธุรกิจ ,เพิ่งอ้าง)

(4) บริษัท คอลเกตุ – ปาล์มโอลีฟ(ประเทศไทย) จำกัด(คอนซูมเมอร์โพรดักซ์)รณรงค์ให้เยาวชนล้างมืออย่างถูกสุขอนามัย กับกระทรวงศึกษาธิการ มือสะอาด สุขภาพดีโดยบริจาคสบู่ก้อน 1 หีบ พัฒนาการมาจากวิจัยการออกห้องน้ำแล้วไม่ล้างมือ(กองบรรณาธิการประชาชาติธุรกิจ,เพิ่งอ้าง)

(5)บริษัท เซเรบอส (ประเทศไทย) จำกัด(อาหารเสริม)โครงการติวเอนทรานซ์ / อักษรไขว้แบรนด์ ซัมเมอร์แคมป์ (โครงการเสริมสร้างความรู้แก่เยาวชน) (กองบรรณาธิการประชาชาติธุรกิจ ,เพิ่งอ้าง)

(6) บริษัท เนสท์เล่ (ไทย)จำกัด(อาหาร) ส่งเสริมการเกษตรให้ชาวไร่กาแฟ  โดยมีหน่วยงานลงไปส่งเสริมความรู้และพัฒนาคุณภาพกาแฟในพื้นที่โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย(กองบรรณาธิการประชาชาติธุรกิจ ,เพิ่งอ้าง)

(7) บริษัท ฮอนด้า ออโตโมบิล(ประเทศไทย) จำกัด(รถยนต์)ลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศจนเหลือ 0 เพิ่มการใช้ประโยชน์จากพลังงานทดแทน ล่าสุดประกาศนโยบาย Green Dealer (กองบรรณาธิการประชาชาติธุรกิจ ,เพิ่งอ้าง)

(8)บริษัท เทสโก้ โลตัส จำกัด(ค้าปลีก) เริ่มต้นโครงการประหยัดพลังงาน ซึ่งสามารถประหยัดเงินได้มาถึง 19 ล้านบาท และจะใช้เป็น Model ต่อไปของเทสโก้ (กองบรรณาธิการประชาชาติธุรกิจ ,เพิ่งอ้าง)

(9)บริษัท ปูนซีเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน)/ SCG(อุตสาหกรรม) SCG ได้อธิบายว่า เหตุที่ให้ความสำคัญต่อ CSR ก็เพราะว่า SCG เป็นส่วนหนึ่งของสังคม หากต้องการอยู่ในสังคมอย่างยั่งยืน ต้องเกื้อกูล ตอบแทนและช่วยเหลือสังคม และ SCG ถือ ว่า ผลประโยชน์ของส่วนรวมของประเทศชาติและสังคมย่อมอยู่เหนือผลประโยชน์อันพึง ได้จากการค้าทั้งปวง นอกจากนั้น กานต์ ฮุนตระกูล กรรมการผู้จัดการใหญ่ SCG ให้ เป็นนโยบายว่า หนึ่งในปัจจัยความสำเร็จของการดำเนินธุรกิจเพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่าง ยั่งยืน คือ ทีมผู้บริหารต้องกำหนดวิสัยทัศน์ แนวนโยบายที่ครอบคลุมทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อมและสังคม ซึ่งได้แบ่งเป็นงาน 4 ด้านของกิจกรรม CSR ประกอบด้วย Corporate Governance / Human Development / Public Welfair / Environment จากกรอบการทำงานเพื่อสังคมและรับผิดชอบต่อสังคมข้างต้น SCG ได้แปรเป็นกิจกรรมในโครงการต่างๆที่เป็นที่รู้จักกันโดยทั่วไป เช่น การรณรงค์สร้างจิตสำนึกอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมด้วยกระบวนการ 3 R ในกลุ่มพนักงาน (SCG Do it Green) /ซึ่งต่อมาได้ขยายผลไปสู่โครงการ Check Dam Restoring the ecosystem (โครงการฝายแม้ว)  โครงการทุนการศึกษาและช่วยเหลือผู้พิการ (SCG Donation/SCG Scholarship) โครงการด้านเด็ก เยาวชน และกีฬา เช่น SCG Young Thai Artist Award / SCG Exellent Intership / SCG Sci-camp / SCG Early Child Development / SCG Badminton  (www.svnasis.org)

(10)บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)(พลังงาน)เป็น บริษัทที่มีการดำเนินกิจกรรมเพื่อสังคม ทั้งที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับกิจการโดยตรง เช่น โครงการช่วยชาติประหยัดน้ำมัน(บริการตรวจสภาพเครื่องยนตร์ฟรีของสถานีบริการ น้ำมัน 100 แห่งทั่วประเทศร่วมกับสำนักงานคณะ กรรมการอาชีวศึกษา หรือที่ไม่เกี่ยวข้องกับกิจการโดยตรง เช่น การสนับสนุนมูลนิธิลูกโลกสีเขียว ฯลฯ แต่ที่ ปตท.ได้ประกาศใช้เป็นโครงการเพื่อสังคมโครงการหลักในปี 2551 คือ โครงการรักษ์ป่า สร้างคน 84 ตำบล วิถีพอเพียง โดยเริ่มต้นคัดเลือกตำบลนำร่อง 9 ตำบล เพื่อเป็นต้นแบบในการวิเคราะห์ปัญหาและศักยภาพของชุมชน เพิ่มทักษะในการดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติในท้องที่ การจัดการพลังงานในชุมชน การจัดการด้านการศึกษาที่เน้นโรงเรียน ครูและนักเรียน การดูแลสิ่งแวดล้อมในชุมชน การจัดการกองทุน และการพัฒนาจิตใจของคนในชุมชน การวิเคราะห์ปัญหาและศักยภาพของชุมชน จะเป็นต้นกำเนิดที่ทำให้คนในชุมชนได้มองเห็นปัญหาร่วมกันและช่วยการสร้างสติ ปัญญาที่จะจัดการโดยอาศัยตัวแบบตามวิถีพอเพียง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการแก้ไขปัญหาหนี้สินระดับครัวเรือน การจัดทำแผนแม่บทชุมชน การจัดการเกษตรอินทรีย์และเกษตรวิถีธรรมชาติ (www.thaienv.com)

(11)บริษัท ซีพี เซเว่นอีเลฟเว่น จำกัด (มหาชน)(ค้าปลีก)ส่งเสริมให้พนักงานมีโอกาสเรียนต่อในระดับที่สูงขึ้น โดยจัดตั้งโรงเรียนปัญญาภิวัฒน์เทคโนธุรกิจ พัฒนาการมาจากการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนพนักงานในธุรกิจร้านสะดวกซื้อ สร้างเป็นจุดแข็ง / ได้เปรียบทางการแข่งขัน (กองบรรณาธิการประชาชาติธุรกิจ , อ้างแล้ว)

หมายเหตุ         บริษัทลำดับที่ 9 และ 10 เป็นบรรษัทข้ามชาติของไทย

กิจการเอกชนระดับท้องถิ่นของไทย

(1) บริษัท น้ำตาลมิตรผล จำกัด(อุตสาหกรรม –พลังงานทดแทน)ได้ กำหนดกรอบการดำเนินธุรกิจที่ต่อขยายจากน้ำตาลที่ผลิตจากอ้อย ไปสู่การสร้างนวัตกรรมใหม่ โดยการผลิตไฟฟ้าชีวมวลจากกากอ้อย การผลิตเอทานอลจากกากน้ำตาล ซึ่งเป็นการนำเอาของเสียไปใช้ประโยชน์ โดยสร้างกระบวนการที่อยู่ร่วมกับชุมชนและรับผิดชอบ โดยการจัดตั้งโครงการหมู่บ้านเพิ่มผลผลิต ที่เป็นการทำงานร่วมกันระหว่างชาวไร่อ้อย รัฐและโรงงาน ในการเพิ่มผลผลิตต่อไร่จากเดิม 7-8 ตันต่อไร่ เป็น 15 ตันต่อไร่โดยเฉลี่ย นอกจากนี้ยังมีโครงการชลประทานต่อยอดท่อส่งน้ำมิตรบ้านลาด โครงการมิตรผลเยาวชนคนกล้า ฯลฯ (ประชาชาติธุรกิจ 24 ตุลาคม 2550)

(2) ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)(สถาบันการเงิน)ได้ ยกระดับงานด้านกิจกรรมเพื่อสังคมที่มีการตั้งเป็นรูปคณะกรรมการกิจกรรมเพื่อ สังคม มี ดร.จิรายุ อิศรางกูร ณ อยุธยา เป็นประธาน และมีกรรมการคนสำคัญอีกหลายท่าน เช่น นายอานันท์ ปันยารชุน คุณหญิงชฎา วัฒนศิริธรรม เป็นการจัดตั้งมูลนิธิสยามกัมมาจล (เคยตั้งมาแล้วเมื่อ 2539) โดย จะมุ่งเน้นไปยังการดำเนินกิจกรรมด้านศิลปวัฒนธรรม โดยที่ฝ่ายสื่อสารองค์กร จะยังคงดำเนินกิจกรรมการบริจาคเพื่อการกุศล และการกระตุ้นจิตอาสาของพนักงาน (ประชาชาติธุรกิจ ,3 มีนาคม 2551)

(3)ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน)(สถาบันการเงิน)ธนาคารกรุงไทย มุ่งเน้นที่จะเตรียมการองรับมาตรฐานการรับผิดชอบต่อสังคม ของ ISO 26000 โดยได้ปรับโครงสร้างการทำงานด้านความรับผิดชอบต่อสังคม ที่มีการตั้งคณะกรรมการบรรษัทภิบาลและความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม (CSER)  ในปี 2551 นี้ ได้พัฒนางานดังกล่าวโดยตั้งงานส่งเสริมความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม อยู่ภายใต้การดูแลของฝ่ายสื่อสารการตลาดและประชาสัมพันธ์ ที่มี ดร.ชัยวัฒน์ วิบูลย์สวัสดิ์ เป็นประธาน โดยCSER จะ ดำเนินโครงการกรุงไทยสานฝันโรงเรียนดีใกล้บ้าน / การเชื่อมโยงโครงการที่กระจัดกระจายเข้าด้วยกัน / การมีส่วนร่วมของพนักงาน และการสร้างพันธมิตร (ประชาชาติธุรกิจ ,เพิ่งอ้าง)

(4) เครือข่ายนักธุรกิจเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อม (Social Venture Network Asia : SVN)เป็นการรวมตัวของผู้ประกอบการธุรกิจ – นักวิชาการ กลุ่มเล็กๆ ในช่วงปี 2542ประกอบด้วย นายไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ดร.จุรี วิจิตรวาทการ ดร.วรากรณ์ สามโกเศศ นางสาวนวพร เรืองสกุล โดยปัจจุบันมีนายสุทธิชัย เอี่ยมเจริญยิ่ง ประธาน (ผู้บริหารบริษัท Wonderworld Products ผู้ผลิต/ผู้ส่งออก ของเล่นไม้ยางพารา และบริษัท Nichiworld ผู้นำเข้าและผู้จัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ของเล่นรายแรกของไทย และจัดทำแคมเปญ Play Safe ให้พ่อแม่ ผู้ปกครองตื่นตัวเรื่องความระมัดระวังในความปลอดภัยของบุตรหลาน) SVN มีสมาชิกอยู่ประมาณ 80 ราย (2550) เป็น เครือข่ายแบบหลวมๆเพื่อสนับสนุนการดำเนินงานด้านซีเอสอาร์ของสมาชิก มีการจัดกิจกรรมการเสวนา ดูงาน ประชุม มอบรางวัลประจำปี มีการจัดทำ CSR journal เป็นวารสารสื่อสัมพันธ์ราย 3 เดือนและมีการจัดประสานเครือข่ายระหว่างประเทศ อีกด้วย (www.svnasia.org,อ้างแล้ว)

ภาคสังคม

โครงการให้เพื่อสังคม / มูลนิธิกองทุนไทย

มูลนิธิกองทุนไทยได้จัดฝ่ายส่งเสริมการให้เพื่อสังคม ได้จัดตั้ง “โครงการให้เพื่อสังคม”โดยมีชื่อเรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า Give 2 call  โดยได้นิยามการให้ว่าเป็นการแบ่งปันน้ำใจ แบ่งปันความเอื้ออาทร  การ ให้ที่ไม่ได้จำกัดเพียงแค่เงินและวัตถุสิ่งของ เป็นการกระตุ้น ส่งเสริมให้ การให้ เป็นคุณธรรมพื้นฐานของสังคมไทย เพื่อนำไปสู่สังคมสงบสุข ร่มเย็น(มูลนิธิกองทุนไทย,www.tff.or.th)ในขณะเดียวกันจะดำเนินงานควบคู่ไปกับงานของเครือข่ายความร่วมมือระหว่างภาคธุรกิจและภาคประชาสังคม (The NETWORK ประเทศไทย) ได้ริเริ่ม “โครงการจิตอาสาพนักงาน” เป็นโครงการรณรงค์สร้างจิตสำนึกการเสียสละการทำกิจกรรมเพื่อสังคม โดยเริ่มต้นภายในองค์กรขององค์กรทั้งภาครัฐและธุรกิจเอกชน (www.tff.or.th)

ทั้งสองเรื่องข้างต้นเป็นเรื่องที่อธิบายหรือสามารถดำเนินการควบคู่กันไป โดยเรื่องของการให้เพื่อสังคม นำเอาแนวความคิดมาจาก การบริจาคเพื่อการกุศล (Philanthropy)ซึ่งเป็นการแสดงออกถึงความรับผิดชอบต่อสังคมด้วยความเอื้อเฟื้อขององค์กร ธุรกิจโดยเจ้าของหรืผู้ถือหุ้น ด้วยการบริจาคเงิน สิ่งของหรือสินค้าให้กับสังคมหรือผู้ด้อยโอกาสในขณะที่ จิตอาสาพนักงาน (Volunteer) เป็นวิธีการที่สร้างการมีส่วนร่วมของพนักงาน ที่มีความรับผิดชอบต่อสังคม ด้วยการให้และการแบ่งปันทรัพยากรต่างๆ ทั้งในรูปของเวลา ความรู้ สิ่งของ หรือสินค้าร่วมกัน ระหว่างนายจ้าง ผู้บริหารและลูกจ้าง แก่ชุมชนที่อยู่รอบบริเวณบริษัทฯและสังคมวงกว้าง อีกทั้งยังเป็นการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างกัน และการสร้างสิ่งแวดล้อม ในการพัฒนาทรัพยากรบุคคลอีกทางหนึ่ง ก่อให้เกิดทั้งประโยชน์องค์กรธุรกิจและสังคมไปพร้อมๆกัน(วรรณา ประยุกต์วงศ์ และ ปารีณา ประยุกต์วงศ์ , 2550)

 

สถาบันไทยพัฒน์ มูลนิธิบูรณะชนบทแห่งประเทศไทย

สถาบันไทยพัฒน์ เป็นองค์กรที่ไม่มีวัตถุประสงค์หากำไร ได้จัดตั้งขึ้นเมื่อ 9 กันยายน 2542 ในรูปแบบของชมรม และได้แปลงสภาพเป็นสถาบันเมื่อ 18 กรกฎาคม 2544 เพื่อทำหน้าที่ส่งเสริมการดำเนินธุรกิจตามแนวเศรษฐกิจพอเพียงและบรรษัทบริบาล(CSR) ใน รูปแบบต่างๆ เช่น การวิจัย การให้คำปรึกษา และเทคโนโลยีสารสนเทศ เป็นเครื่องมือสนับสนุนการดำเนินงาน และได้เป็นภาคีองค์กรของมูลนิธิบูรณะชนบทแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์(www.thaicsr.com , อ้างแล้ว)

แนวทางการรณรงค์สร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับ CSR ของสถาบันไทยพัฒน์ ที่เป็นที่รู้จักกันโดยแพร่หลายก็คือ โครงการวิจัยและให้คำปรึกษา การพัฒนาซีเอสอาร์เชิงกลยุทธ์ (Strategic CSR Development) และCSR Master Plan รวม ทั้งได้จัดทำโครงการร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ในชื่อ โครงการพัฒนาซีเอสอาร์ในกระบวนการบริหารจัดการองค์กรธุรกิจ ซึ่งเป็นโครงการที่มีผู้ประกอบการ  7 แห่ง ให้ความร่วมมือ ประกอบด้วย บริษัท ไทยประกันชีวิต จำกัด / บริษัท พานาโซนิคอิเลคทริค เวิร์คส์(ไทยแลนด์) จำกัด / บริษัท เนสท์เล่ (ไทย) จำกัด/ บริษัทแอมเวย์ (ประเทศไทย)จำกัด /บริษัท อมรินทร์พรินติ้งแอนพับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน) /บริษัท จุลไหมไทย จำกัด และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธกส) และได้พัฒนาองค์ความรู้ดังกล่าวเป็น Z – Model เพื่อเป็นเครื่องมือสำหรับการบริหารเชิงกลยุทธ์และการวัดประเมินผล

สถาบันคีนันเอเชีย

สถาบันคีนันเอเชีย (Kenan Institue Asia) เป็นองค์กรไม่แสวงหากำไร เป็นองค์กรที่จัดตั้งขึ้นโดยมีปณิธานที่มุ่งมั่นที่จะสร้างขีดความสามารถที่ แข็งแกร่งและการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศในภูมิภาคเอเชียโดยเฉพาะในแถบลุ่ม น้ำโขง  สถาบันได้กำหนดกรอบวัตถุประสงค์ที่จะดำเนินงานในระยะ 5 ปี ข้างหน้า (2551-2555)  7 ประการด้วยกันโดยมี 2 เรื่องในนั้นมีความเกี่ยวข้องกับการรณรงค์ในด้าน CSR ซึ่ง ประกอบด้วย การส่งเสริมการบริหารจัดการทางธุรกิจที่ดีขึ้นของภาคเอกชนตามหลักธรรมาภิบาล ความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม และการยกระดับความสามารถในการแข่งขันที่ยั่งยืน และ การสนับสนุนการรักษาสิ่งแวดล้อมโดยการส่งเสริมการเข้ามามีบทบาทร่วมของรัฐ วิสาหกิจและเอกชน

ในช่วงปลายปี 2550 สถาบัน คีนันเอเชีย ได้รณรงค์การเตรียมความพร้อมขององค์กรและหน่วยงานในประเทศไทยเพื่อรองรับการ ปฏิบัติตามมาตรฐานสากลว่าด้วยความรับผิดชอบต่อสังคม (ISO 26000 Social Responsibility) ซึ่งเป็นการเตรียมความพร้อมที่รองรับแนวปฏิบัติที่จะเกิดขึ้นจากการประกาศใช้กติกาดังกล่าวของ International Organization for Standardization : ISO (www.kiasia.org)ซึ่ง เป็นการสนับสนุน การเตรียมการของกระทรวงอุตสาหกรรม ที่ได้กำหนดแนวปฏิบัติสำหรับการเตรียมความพร้อมที่จะดำเนินการตามมาตรฐาน สากลเรื่องความรับผิดชอบต่อสังคม ไปก่อนหน้านี้แล้ว

สื่อ

การสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการรณรงค์ด้าน CSR ใน ประเทศไทย นอกจากจะมีการเผยแพร่ข้อมูลขององค์กรของภาครัฐ เอกชน และภาคสังคม ที่เป็นเจ้าของโครงการ โดยผ่านสื่อด้านกว้างในรูปของข่าว บทความ บทรายงาน ฯลฯ และการให้ข้อมูลข่าวสารโดยเว็บไซต์ขององค์กรเจ้าของโครงการ ต่างๆข้างต้นแล้ว  ยังมีหนังสือพิมพ์ประชาติธุรกิจ ซึ่งเป็นหนังสือพิมพ์ประเภทธุรกิจราย 3 วัน ในเครือมติชน และหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจรายวัน (หนังสือพิมประเภทธุรกิจ) ได้เป็นสื่อหลักในการทำหน้าที่รายงานความก้าวหน้าและความเคลื่อนไหวการ ดำเนินกิจกรรม งานวิชาการ ทั้งที่เป็นงาน CSR ภายใน ประเทศและต่างประเทศ อันเป็นสร้างประเด็นนำเสนอและข้อถกเถียง ต่างๆ เพื่อพัฒนางานในด้านนี้อย่างต่อเนื่อง โดยสื่อทั้งสองฉบับได้นำเรื่องของ CSR ไปรวมเข้าไว้กับความรู้และความเคลื่อนไหวในการบริหารองค์กรและทรัพยากรมนุษย์

นอกจากสื่อหลักข้างต้นแล้ว ยังมีเว็บไซต์ www.thaicsr.com ซึ่งได้จัดตั้งขึ้นในคราวที่มีการจัดงาน

สมัชชาคุณธรรมแห่งชาติ แล้วได้จัดประชุมกลุ่มธุรกิจเพื่อสังคม เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2548 และได้จัดตั้ง Thai Corporate Social Responsibility (ThaiCSR) (www.thaicsr.com, อ้างแล้ว)

การค้นคว้าประกอบการศึกษาในหลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาการพัฒนาธรรมาภิบาล มหาวิทยาลัยราชภัฎจันทรเกษม

โดยสุนทร คุณชัยมัง

บริษัท อิมเมจ พลัส คอมมิวนิเคชั่น จำกัด / soontorn@imageplus.co.th

Share this