บทความน่าสนใจ

            ปี ค.ศ. 2014 ขึ้นชื่อว่าปีแห่งประชาธิปไตยในอินโดนีเซีย เนื่องจากในปีนี้จะมีการเลือกตั้งถึง 2 ครั้ง นั่นคือการเลือกตั้งสมาชิกสภาในวันที่ 9 เมษายน พ.ศ. 2557 ที่ผ่านมา และจะมีการเลือกตั้งประธานาธิบดี ในเดือน กรกฎาคม พ.ศ. 2557 โดยการเลือกตั้งดังกล่าวเป็นการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตยครั้งที่ 3 หลังจากการลงจากตำแหน่งของนายซูฮาร์โตในปี ค.ศ. 1998             ผลอย่างไม่เป็นทางการของการเลือกตั้งในครั้งนี้ ปรากฏว่า คะแนนเสียงอันดับ 1 ตกเป็นของพรรค The Indonesian Democratic Party of Struggle (PDI – P) ซึ่งได้คะแนนเสียงในสภาไปประมาณเกือบ 20 %นั่นหมายความว่า พรรค PDI – P มีโอกาสค่อนข้างมากที่จะส่งนาย Joko Widodo เข้าชิงตำแหน่งประธานาธิบดีในการเลือกตั้งเดือนกรกฎาคมที่กำลังจะถึงนี้ โดยพรรค PDI – P เป็นพรรคการเมืองที่มีประวัติด้านการเมือในอินโดนีเซียมายาวนาน มีแนวคิดแบบปัญจศีล หมายถึงหลัก 5 ประการที่เป็นปรัชญาแห่งรัฐของอินโดนีเซีย คือ ความเชื่อในพระเจ้าสูงสุดเพียงองค์เดียว, มนุษยนิยม, ชาตินิยมแห่งความเป็นอินโดนีเซีย, หลักการแห่งประชาธิปไตยที่อำนาจอธิปไตยของปวงชนและความยุติธรรมในสังคมสำหรับชาวอินโดนีเซียทั้งหมดโดยเท่าเทียมกัน จึงน่าจะเข้ามาช่วยให้อินโดนีเซียซึ่งมีหลายศาสนาสามัคคีกันได้ โดยชูนโยบายที่จะจำกัดบทบาทของกิจการต่างชาติลง เพื่อส่งเสริมกิจการในประเทศ และนำพาอินโดนีเซียให้เป็นผู้นำเศรษฐกิจของอาเซียน             อีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้พรรค PDI – P ได้รับชัยชนะ ก็เพราะคะแนนนิยมในตัวนาย Joko Widodoที่มีประวัติการทำงานอย่างมุ่งมั่น ทุ่มเทและโปร่งใส อีกทั้งยังติดดิน เข้ากับประชาชนได้ทุกระดับ ทำให้ได้รับความสนใจและการสนับสนุนจากประชาชนมากมาย นอกจากนั้นนักวิชาการมองว่า นาย Joko Widodoเป็นคนของพรรคPDI – Pซึ่งมีนักการเมืองอาวุโสอยู่ จึงทำให้ถึงแม้นาย Joko Widodoมีอำนาจมาก แต่ก็ยังมีอำนาจเก่าภายในพรรคเป็นตัวถ่วงอำนาจไว้เพื่อสร้างสมดุล นาย Joko Widodoจึงกลายเป็นความหวังที่จะนำพาให้ประเทศอินโดนีเซียเจริญก้าวหน้าต่อไป             สิ่งที่น่าสังเกตจากการเลือกตั้งครั้งนี้ได้คือ การเมืองอินโดนีเซียในปัจจุบันได้เปลี่ยนไปอย่างมาก เพราะจากที่ในสมัยก่อนพรรคการเมืองซึ่งมีพื้นฐานแนวคิดที่แตกต่างกันอย่างชัดเจน เช่น อุดมการณ์ชาตินิยม อุดมการณ์ทางศาสนาอิสลาม หรืออุดมการณ์ตามหลักปัญจศีล จะเป็นปัจจัยที่ส่งผลต่อคะแนนเสียงจากประชาชนเป็นอย่างมาก แต่ในปัจจุบัน แนวคิดของพรรคเหล่านั้นกลับไม่เข้มข้นเหมือนแต่ก่อน ทำให้การตัดสินใจเลือกพรรคใดพรรคหนึ่งของประชาชนกลับมองไปที่บุคลิก ลักษณะ การทำงานของตัวบุคคลมากกว่า แต่ถึงแม้ว่านาย Joko Widodoจะได้รับความนิยมมากเพียงใด แต่ผลการเลือกตั้งที่ออกมานั้นก็ทำให้พรรค PDI – Pต้องหาพรรคอื่นมาเป็นแนวร่วมเพื่อเสนอชื่อเข้าชิงตำแหน่งประธานาธิบดี ซึ่งคงต้องจับตาดูความเคลื่อนไหวของหลายๆ ฝ่ายต่อไป   ————————— แปลและเรียบเรียงโดย ฝ่ายข้อมูลสนับสนุน บริษัท อิมเมจ พลัส คอมมิวนิเคชั่น จำกัด: 21 เมษายน พ.ศ. 2557 pdf_1398137871
Share this

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *