จากกรณีที่ ชาวมาบตาพุด จาก 11 ชุมชนรอบนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จังหวัดระยอง ได้มอบอำนาจให้โครงการนิติธรรมสิ่งแวดล้อม ยื่นฟ้องคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่ง ชาติ  ฐานละเลยต่อหน้าที่ไม่ประกาศพื้นที่มาบตาพุดเป็นเขตควบคุมมลพิษ เพื่อควบคุม ลดและขจัดมลพิษ ซึ่งได้ยื่นต่อศาลปกครองระยอง ตั้งแต่เมื่อวันที่ 1 ต.ค. 2550 นั้น วานนี้ (3 มี.ค.) นางสายสุดา เศรษฐบุตร ตุลาการศาลปกครองระยอง ได้อ่านคำพิพากษาคดีดังกล่าว สั่งให้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่ง ชาติ ประกาศให้ท้องที่เขตเทศบาลเมืองมาบตาพุดทั้งหมด รวมทั้งตำบลเนินพระ ตำบลมาบข่า และตำบลทับมา อำเภอเมืองระยองทั้งตำบล ตลอดจนท้องที่ตำบลบ้านฉาง อำเภอบ้านฉางทั้งตำบล เป็นเขตควบคุมมลพิษ เพื่อดำเนินการควบคุม ลด และขจัดมลพิษ ตามที่กำหนดไว้ในกฎหมายต่อไป ทั้งนี้ให้ดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 60 วันนับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษา สำหรับการประกาศเขตควบคุมมลพิษ ตามมาตรา 59 แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่ง ชาติ พ.ศ. 2535นั้น จะประกาศ กรณีที่ปรากฏว่าท้องที่ใดมีปัญหามลพิษ ซึ่งมีแนวโน้มที่จะร้ายแรงถึงขนาดเป็นอันตรายต่อสุขภาพอนามัยของประชาชน หรืออาจก่อให้เกิดผลกระทบเสียหายต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อม  โดยให้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติมีอำนาจประกาศในราชกิจจานุเบกษา กำหนดให้ท้องที่นั้นเป็นเขตควบคุมมลพิษ เพื่อดำเนินการควบคุม ลด และ ขจัดมลพิษได้ อย่างไรก็ตาม การประกาศเขตควบคุมมลพิษ ไม่ได้ขัดขวางการลงทุน แต่ผู้ประกอบการยังสามารถลงทุนต่อไปได้ เพียงแต่อยู่ภายใต้กรอบของกฎหมายในการควบคุมสิ่งแวดล้อมเท่านั้น ซึ่งเจตนารมณ์ของการประกาศเขตควบคุมมลพิษ ต้องการให้มีการจัดการระบบน้ำเสียรวม การจัดการขยะรวม โดยตั้งงบประมาณจากกองทุนสิ่งแวดล้อมได้ อีกทั้งให้อำนาจท้องถิ่นในการจัดทำแผนปฏิบัติการสิ่งแวดล้อม ตามมาตรา 58 โดยให้อำนาจผู้ว่าราชการจังหวัดในการประกาศมาตรฐานมลพิษที่เข้มงวดมากขึ้นจากที่ส่วนกลางกำหนดได้ ส่วนอำนาจในการบริหารจัดการมลพิษนั้น ต้องทำแผนปฏิบัติการตามมาตรา 60 และ มาตรา 61 ที่ระบุให้เจ้าพนักงานท้องถิ่นในท้องที่เขตควบคุมมลพิษ จัดทำแผนปฏิบัติการ เพื่อลดและขจัดมลพิษที่ครอบคลุมการจัดการมลพิษที่พื้นที่ โดยต้องทำตามแผนปฏิบัติการเพื่อลดและขจัดมลพิษอย่างต่อเนื่อง เพื่อแก้ไขปัญหามลพิษ โดยกรมควบคุมมลพิษมีหน้าที่ประสานงานในการจัดทำแผนปฏิบัติการเพื่อลดและขจัด มลพิษ  ส่วนการลงทุนใหม่ที่เกิดขึ้นในพื้นที่ดังกล่าว จะต้องเสนอแผนปฏิบัติการสิ่งแวดล้อมให้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมพิจารณาเท่านั้น เล็งฟ้องแพ่ง-อาญาเพิ่ม  นายสุทธิ   อัชฌาศัย   ผู้ประสานงานเครือข่ายประชาชนภาคตะวันออก   เผยภายหลังร่วมรับฟังคำพิพากษา ของศาลปกครองระยอง ร่วมกับชาวบ้านประมาณ 100 คน ว่า กำลังหารือกับนักกฎหมายว่าจะสามารถฟ้องร้องทางอาญา และทางแพ่งด้วยหรือไม่  แต่การที่ชาวบ้านชนะคดีครั้งนี้ ถือเป็นแค่ก้าวแรกของความสำเร็จ และต่อไปเครือข่ายภาคประชาชนจะเดินหน้าเรื่องการปฏิบัติตามแผนลดและขจัด มลพิษ และจะขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมทบทวนแผนขยายปิโตรเคมีเฟส 3 และกิจกรรมการพัฒนาในพื้นที่ว่าทำให้เกิดมลพิษเพิ่มหรือไม่     นายสุทธิ กล่าวอีกว่า   ขณะนี้ในเขตมาบตาพุด มีการปรับพื้นที่ถมทะเล เพื่อเตรียมขยายปิโตรเคมีเฟส 3 ซึ่งหากหน่วยงานอนุญาต  โดยเฉพาะกรมโรงงานอุตสาหกรรม หรือแม้แต่สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากร ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่มีส่วนในการพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) อนุมัติโครงการโดยไม่เข้าเกณฑ์เงื่อน มาตรา 67 ชาวบ้านก็จะไปฟ้องหน่วยงานที่อนุญาตต่อไป นักวิชาการขานรับมิติใหม่  นายเดชรัตน์  สุขกำเนิด อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์  กล่าวว่า ถือเป็นมิติใหม่ของประชาชนที่ศาลพิพากษาออกมาเช่นนี้ แม้ว่าทางคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่ง ชาติจะสามารถอุทธรณ์ได้ แต่คิดว่าไม่น่าอุทธรณ์ เพราะกรณีนี้ประชาชนไม่ได้ฟ้องเรียกเงินหรือค่าเสียหาย แต่เป็นการฟ้องเพื่อบังคับให้รัฐบาลใช้กฎหมายที่มีอยู่แล้ว การประกาศเขตควบคุมมลพิษจะช่วยให้ภาคส่วนต่างๆ ของสังคม ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชนได้มีกลไกในการทำงานร่วมกัน เพื่อช่วยกันควบคุมและลดมลพิษภายในพื้นที่ และมีขั้นตอนการดำเนินงานที่เป็นระบบมากขึ้น มีการจัดทำแผนดำเนินการ และมีเป้าหมายการดำเนินการร่วมกันอย่างชัดเจน  และ เมื่อมีการประกาศเขตควบคุมมลพิษแล้ว การแก้ปัญหามลภาวะจะเป็นไปอย่างมีระบบและมีเป้าหมายมากขึ้น ในขณะเดียวกัน ภาคส่วนต่างๆ จำเป็นจะต้องแก้ไขปัญหาที่เป็นผลกระทบทางสุขภาพ ที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงทางสังคมด้วยเช่นกัน โดยควรมีการจัดทำแผนปฏิบัติการในลักษณะเดียวกันทั้งหมด เพื่อให้ภาวะความเดือดร้อนของประชาชนในพื้นที่บรรเทาลง ที่มา  กรุงเทพธุรกิจ 04 มีนาคม 2552 pdf_1387359413
Share this

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *