บริษัท

การสร้างสรรค์คุณค่าธุรกิจคู่สังคม(Creating shared value : CSV)
1. ความหมาย

การสร้างสรรค์คุณค่าธุรกิจคู่สังคม (Creating shared value: CSV) หมายถึง การสร้างสรรค์คุณค่าจากการดำเนินธุรกิจเพื่อประโยชน์ต่อทั้งส่วนธุรกิจและร่วมจัดการแก้ไขปัญหาสังคม

จากการศึกษาของ Porter & Kramer ค้นพบว่า CSV นั้น สามารถจะพัฒนาขึ้นได้จากการดำเนินงานของธุรกิจใน 3 พื้นที่ คือ (1) การทบทวนเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการจัดการผลิตภัณฑ์และการตลาด (Reconceiving Products & Markets) (2) การปรับการนิยามความหมายว่าด้วยการจัดการผลิตภาพในเครือข่ายห่วงโซ่คุณค่าของธุรกิจ (Redefining Productivity in Value Chains) และ (3) การร่วมกันขับเคลื่อนคลัสเตอร์ว่าด้วยการพัฒนาท้องถิ่น (Enabling Local Cluster Development)

2. การรณรงค์และการสร้างมาตรการ

เพื่อเป็นการทำความเข้าใจในแนวคิดว่าด้วย CSV ในที่นี้ จะขอยกตัวอย่างของการสร้างสรรค์คุณค่าร่วมระหว่างองค์กรธุรกิจกับการจัดการปัญหาสังคม/ ชุมชนที่เป็น Unmet Needs ที่เป็นการพัฒนาทั้ง 3 พื้นที่ของการบริหารจัดการธุรกิจ ดังนี้

ตัวอย่างของการพัฒนางาน CSR projects ซึ่งเป็นงานจัดการคุณภาพน้ำขุมเหมืองที่ปิดกิจการไปแล้ว ตามเกณฑ์มาตรฐานของกฎหมายสิ่งแวดล้อมของประเทศสหภาพอาฟริกาใต้ ที่เมือง Mpumalanga ของบริษัท AngloAmerican (รูปที่ 2.1) บริษัทฯ เห็นว่า เทศบาลของเมืองกำลังประสบปัญหาการขาดแคลนน้ำดิบเพื่อรองรับการผลิตน้ำประปาของเมือง โดยเฉพาะช่วงฤดูแล้ง เป็นเหตุให้เทศบาลจะต้องศึกษาความเป็นไปได้ที่จะจัดหาน้ำดิบมาผลิตประปารองรับการบริโภคอุปโภคของประชาชนในเมือง บริษัทฯ จึงปรับปรุงคุณภาพน้ำที่จัดการดูแลอยู่ให้เป็นไปตามคุณภาพของน้ำดิบเพื่อการประปา และสามารถขายเป็นน้ำดิบให้กับการประปาของเมือง Mpumalanga ได้สำเร็จ เป็นการเปลี่ยนจากการจัดการน้ำขุมเหมืองแบบจัดการควบคุมน้ำเสีย ตามมาตรฐานงานสิ่งแวดล้อมซึ่งเป็นงานรายจ่าย ให้เป็นน้ำดิบเพื่อการผลิตประปา เป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ และเป็นงานสร้างรายได้ให้กับบริษัท ที่หมายถึงว่า ผลผลิตน้ำดิบที่มีมากขึ้น นั่นหมายถึง ความสามารถของเทศบาลที่จะรองรับต่อการจัดการปัญหาประปาจะมีมากขึ้น (หรือโอกาสของปัญหาที่จะเกิดขึ้นจะมีน้อยลงนั่นเอง) กรณีนี้เป็นตัวอย่างของการสร้างคุณค่าร่วมของธุรกิจกับสังคมในพื้นที่ของการทบทวนเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการจัดการผลิตภัณฑ์และการตลาด

รูปที่ 2.1 การอธิบายผลการดำเนินงาน CSR ของ บริษัท AngloAmerican

กรณีของการพัฒนาผลิตภาพตามห่วงโซ่คุณค่าของธุรกิจ มีตัวอย่างของการดำเนินงานตามโครงการ World Class Supplier ของบริษัท BHP Billiton(รูปที่ 2.2) ที่พัฒนาศักยภาพและทักษะของธุรกิจการสนับสนุน (Suppliersor Contractors) ในชิลี ซึ่งเป็นประเทศที่มีทรัพยากรเหมืองแร่เป็นเศรษฐกิจแขนงใหญ่ มีบริษัทรัฐวิสาหกิจที่รับผิดชอบงานในด้านนี้โดยตรง แต่มีธุรกิจรับเหมางานสนับสนุนทั่วไปเป็นจำนวนมาก ที่มีประสบการณ์การทำงานมายาวนาน แต่ขาดการพัฒนาศักยภาพและทักษะให้เป็นผู้ประกอบการกิจการเหมืองแร่ที่มีมาตรฐาน BHP ตั้งประเด็นเชิงยุทธฺศาสตร์เพื่อร่วมพัฒนาความสามารถในการทำงาน โดยชักชวนผู้รับเหมาในสัญญาของบริษัทฯ ว่า ในอนาคตที่จะถึงในปี 2020 เศรษฐกิจของโลกที่พัฒนาขยายตัวออกไป จะทำให้ตลาดมีความต้องการสินค้าและบริการมากขึ้น ซึ่งจะต้องใช้ทรัพยากรแร่ธาตุต่าง ๆ เพิ่มมากขึ้นตามไป ในขณะเดียวกันผู้ประกอบการจะต้องมีความสามารถและศักยภาพในวิชาชีพที่สูงขึ้นมากกว่าเดิม อันเนื่องมาจากความก้าวหน้าของเทคโนโลยีการบริหารจัดการที่จะต้องแม่นยำ และใส่ใจต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมมากขึ้น คาดการณ์กันว่า ในปี 2020อุตสาหกรรมเหมืองแร่ จะมีความต้องการผู้ประกอบการในระดับ World Class ประมาณ 250 ราย ในขณะที่ในปัจจุบันที่ผู้ประกอบการ/ ผู้รับเหมาทั่วไป ที่มีความสามารถในระดับต้นที่เป็นเพียง Simple User/ Adaptor ประมาณ 4,000 กว่าราย ผู้ประกอบการเหล่านี้ไม่มีความสามารถเพียงพอที่จะเป็นนวัตกร (Innovator) และการคิดไปยังอนาคตข้างหน้าต่อไปอีก

ด้วยเหตุดังกล่าว BHP จึงลงทุนดำเนินงานตามโครงการ World Class Suppliers ด้วยการพัฒนาความรู้ และทักษะให้กับพนักงานของผู้รับเหมา ในวงเงิน 50 ล้านเหรียญสหรัฐ เป็นผลให้มีผู้รับเหมาในกิจการสนับสนุนของชิลีสามารถยกระดับขีดความสามารถที่จะเป็นผู้รับเหผู้รับเหมามางานในระหว่างประเทศได้จำนวน 36 ราย และส่งผลให้สามารถสร้างรายได้จากการรับเหมางานใหม่ ๆ จากต่างประเทศเพิ่มขึ้น 400 ล้านเหรียญสหรัฐ เป็นรายได้นำเข้าให้กับเศรษฐกิจของชิลีและรองรับครอบครัวของแรงงานของบริษัทเหล่านั้นที่มีอยู่มากถึง 5,000 คน ในขณะเดียวกัน ผลจากความสามารถของพนักงาน/ ลูกจ้างของผู้รับเหมาที่ผ่านการอบรมในโครงการนี้เฉพาะส่วนที่เกี่ยวข้องกับการร่วมงานของ BHP ทำให้ BHP สามารถลดค่าใช้จ่ายจากการซ่อมแซมแก้ไขงาน (อันเนื่องมาจากการขาดทักษะของคนงาน) ลงไปประมาณ 121 ล้านเหรียญสหรัฐโดยเปรียบเทียบ

รูปที่ 2.2 การอธิบายผลการดำเนินงาน CSR ของ บริษัท BHP Billiton

สำหรับกรณีของการพัฒนาคุณค่าร่วมในพื้นที่ของการขับเคลื่อนคลัสเตอร์ว่าด้วยการพัฒนาท้องถิ่น นั้นที่จะเห็นเป็นตัวอย่างได้จากกรณีการดำเนินงานตามโครงการชีววิถีเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ซึ่งไปดำเนินงานกิจกรรมต่าง ๆ ตามแผนงานว่าด้วยกิจการเพื่อสังคมในพื้นที่ใต้/ ใกล้แนวสายส่งไฟฟ้าแรงสูง ซึ่งโดยทั่วไปจะเป็นพื้นที่ที่มีการรอนสิทธิและห้ามไม่ให้มีการประกอบการในกิจการบางประเภท (ห้ามสร้างสิ่งปลูกสร้าง) แต่ในกรณีตามโครงการนี้ จะส่งเสริมให้ประชาชนในพื้นที่เข้าไปใช้ประโยชน์ เป็นที่ทำกิน ในกิจกรรมบางประเภท ยกตัวอย่างในพื้นที่บ้านโคกสยา ตำบลปะลุรู อำเภอสุไหงปาดี จังหวัดนราธิวาส ที่มีชุมชนเข้าร่วมโครงการ 270 ครัวเรือน มีการส่งเสริมให้ปลูกผักสวนครัว เลี้ยงปลาดุก เลี้ยงไก่ และแพะ ฯลฯ ให้ใช้พื้นที่ใต้แนวสายส่ง ตามความยาวจำนวน 30 Span โดยมีชุมชนที่ร่วมโครงการในส่วนนี้ 10 ครัวเรือน (รูปที่ 2.3)

จากการสำรวจข้อมูล พบว่า เฉพาะชุมชนที่ใช้พื้นที่ใต้แนวสายส่งประกอบกิจการและเฉพาะรายได้จากการปลูกมันสำปะหลัง มีรายได้จากการขายมันสำปะหลัง 10,000 บาท/ เดือน หรือเปรียบเทียบได้เป็น 50%ของรายได้ครัวเรือนโดยประมาณ (คิดจากชุมชน 1 รายเท่ากับ 1 ครัวเรือน ในขณะที่รายได้ครัวเรือนโดยเฉลี่ย คิดจากตัวเลขของรายได้เฉลี่ยของคนนราธิวาสจากการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ปี 2558 ที่มีรายได้ 19,890 บาท/ เดือน/ ครัวเรือน) ในขณะเดียวกันในประโยชน์ที่เกิดขึ้นต่อการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ที่ได้รับจากความสำเร็จของการดำเนินงานนี้ คือ การที่มีชุมชนจำนวน 10 รายนี้ ใช้พื้นที่นี้เป็นที่ทำกินต่อเนื่องไปเสมือนหนึ่งได้ทำหน้าที่เป็นเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังเหตุ ไม่ให้ผู้ก่อการร้ายเข้าไปทำลายเสาไฟฟ้าแรงสูงจำนวน 30 ต้นซึ่งเป็นเรื่องที่ กฟผ. เคยประสบเหตุในลักษณะนี้มาก่อนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ และต้องใช้งบประมาณในการฟื้นฟูระบบมากถึง 1 ล้านบาทต่อเสาไฟฟ้าแรงสูง 1 ต้น ยังไม่ได้รวมค่าเสียหายการจ่ายไฟฟ้าให้การไฟฟ้าภูมิภาคไม่ได้ และไม่ได้คิดค่าเสียหายของระบบเศรษฐกิจโดยรวมที่เสียหายไปจากไฟฟ้าดับในช่วงเวลานั้น

รูปที่ 2.3 การอธิบายผลการดำเนินงาน CSR ของ ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย

ตัวอย่างในกรณีของคุณค่าของกิจกรรม CSR Project ของกิจกรรมต่าง ๆ ในโครงการชีววิถีเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน ที่ด้านหนึ่งส่งผลโดยตรงต่อการสร้างรายได้ สร้างอาชีพ มากน้อยแตกต่างกันไปตามการร่วมงาน/ กิจกรรม แต่ถือได้ว่ามีความสำคัญต่อการประกอบอาชีพและสร้างรายได้ทางเศรษฐกิจให้กับชุมชนเป็นอย่างยิ่ง อีกด้านหนึ่งก็เป็นผลที่สะท้อนกลับไปยังผลพลอยได้ที่ กฟผ. จะได้รับจากการเฝ้าระวังไม่ให้มีเหตุที่เกิดความเสียหายต่อระบบส่ง ซึ่งเป็นกิจการสำคัญหนึ่งของ กฟผ. (แม้จะไม่เกิดขึ้นบ่อยครั้งก็ตาม)

3. แนวคิดและทฤษฎี

Porter Kramer ได้พัฒนาแนวคิดว่าด้วยการทำงานแบบสร้างสรรค์คุณค่าร่วม ต่อเนื่องมาตามลำดับตั้งแต่ทั้งสองได้นำเสนอบทความเรื่อง The Competitive Advantage of Corporate Philanthropy เมื่อปี 2002 ซึ่งเป็นการนำเสนอให้กิจการเอกชนทบทวนและเพิ่มเติมความสำคัญในการใช้จ่ายเงินเพื่อการบริจาค/ให้/ ช่วยเหลือสังคมว่าเป็นเรื่องที่เกิดประโยชน์ต่อทั้งผู้ได้รับการช่วยเหลือและผู้ให้การช่วยเหลือได้อย่างมีนัยสำคัญต่อทั้งการแก้ไขปัญหาสังคมและแท้ที่จริงกิจการเอกชนก็ได้รับประโยชน์จากการดำเนินงานเหล่านั้นไม่ว่าจะโดยตรงหรือโดยอ้อม และ Strategic Corporate Social Responsibility เมื่อปี 2006ซึ่งเป็นบทความที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานที่ให้นำเอาเรื่องความรับผิดชอบต่อสังคมนี้มาสร้างเป็นความสามารถทางการแข่งขันทางธุรกิจขององค์กร CSV ที่ Porter & Kramerนำเสนอในปี 2011 ก็พัฒนาต่อเนื่องไปจากบทความทั้งสองเรื่องนี้ ด้วยการชี้ให้เห็นถึงยุทธศาสตร์การดำเนินงานธุรกิจสมัยใหม่ ที่ตั้งอยู่บนฐาน (1) Social Needs – Unmet Needs การจัดการแก้ไขปัญหาสังคมที่มีอยู่ โดยเฉพาะปัญหาที่ถูกละทิ้ง ละเลย จากรัฐ ธุรกิจ และความสามารถขององค์กรภาคประชาสังคมก็ไม่มีความสามารถที่เพียงพอ (2) Corporate Assets and Expertise- เป็นการนำเอาทรัพยากรและความสามารถของกิจการบริษัทไปร่วมสนับสนุนต่อการจัดการปัญหานั้น ๆ และ (3) Business Opportunities & Challenges – เป็นงานที่สร้างสรรค์ขึ้นใหม่ อันเนื่องมาจากการดำเนินงานตาม (1) และ (2)  (รูปที่ 2.4) ได้สร้างโอกาสและความท้าทายต่อการจัดการธุรกิจ และด้วยลักษณะของความเป็นไปได้ในการพัฒนาเป็นธุรกิจนี้ เมื่อธุรกิจขยายตัวออกไปจะเท่ากับว่า ปัญหาของสังคมในเรื่องนั้น ๆ จะถูกจัดการแก้ไขมากขึ้นตามไปด้วย

รูปที่ 2.4 ยุทธศาสตร์การดำเนินธุรกิจสมัยใหม่ของ Porter & Kramer

จากการอธิบายข้างต้น จะเห็นได้ว่า องค์กรภาคธุรกิจจะเลือกนำเอาแนวคิด CSV ไปใช้ประกอบการบริหารทั้งในระดับผลิตภัณฑ์/ บริการ (Products/ Services) การบริหารจัดการงานปรับปรุงผลิตภาพ (Productivity) และการบริหารจัดการเพื่อให้ธุรกิจกับชุมชน/ ท้องถิ่นสามารถพัฒนาความเป็นอยู่ร่วมกันได้ (Cluster Development) ในเรื่องนี้ Porter & Kramerได้ย้ำว่า เรื่องของ CSV เป็นการบริหารจัดการที่สามารถเลือกใช้เป็น Business Strategyทั้งในระดับองค์กรและระดับนโยบาย โดยในระดับองค์กร ที่มีการนำเอาแนวคิดนี้ไปปรับใช้ เช่น Nestle’ และในกิจการอุตสาหกรรมประเภทพลังงาน ก็จะมี Enel (ของอิตาลี) เป็นต้นสำหรับในระดับนโยบาย มีอุตสาหกรรมหลายสาขาได้ร่วมกันรณรงค์ให้มีการดำเนินงานตามแนวคิด CSVไปแล้วเช่น อุตสาหกรรมธนาคาร การเงิน – ประกันชีวิต/ อุตสาหกรรมขุดเจาะ สำรวจและเหมืองแร่/ อุตสาหกรรมยา/ สุขภาพ/ ที่อยู่อาศัย/ การศึกษา/ การจัดการน้ำ และมีเครือข่ายรณรงค์ในระดับภูมิภาคทั้งในนิวยอร์ค/ สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย อินเดีย ชิลี และสหภาพอาฟริกาใต้

4. การอธิบายผลผลิตและผลลัพธ์

ผลผลิตและผลลัพธ์ของการดำเนินงานตามการดำเนินงานแบบ CSVจะอธิบายตามหลักของการวัดผลลัพธ์แบบ Result- based evaluation ซึ่งจะอธิบายค่าความหมายในเชิงคุณค่าได้ทั้งการแก้ไขปัญหาสังคม และการสร้างรายได้ให้กับธุรกิจ เป็นการสื่อแทนความหมายได้ว่า ธุรกิจยิ่งขยายตัวออกไปก็ย่อมสามารถแก้ไขปัญหาสังคมนั้น ๆ ลดลงไปพร้อม ๆ กัน

รวบรวมเรียบเรียงโดย : CSR Communication Department

Share this