สังคม/ชุมชน

คำ แนวคิด ความหมายของกิจการเพื่อสังคม และการเปลี่ยนแปลงทางสังคมที่ก่อเกิดจากสังคมฐานล่าง ดร.สุนทร คุณชัยมัง Image Plus Communication       [5] วิสาหกิจเพื่อสังคม (2) ตามคุณลักษณะของวิสาหกิจเพื่อสังคมในยุโรป ที่ประมวลโดย Emergence of Social Enterprises in Europe: EMES (http://emes.net)             EMES เป็นเครือข่ายเพื่อการวิจัยของยุโรป (European Research Network) ก่อตั้งขึ้นในปี 1996 โดยเป็นรวมนักวิจัยมาจากทั่วยุโรป 15 ประเทศ ตามการขับเคลื่อนภาคประชาสังคมก่อนที่จะรวมตัวกันเป็น EU เป็นการรวมตัวสร้างความร่วมมือของหน่วยงานวิจัยของมหาวิทยาลัยและนักวิจัยเอกชน ที่มีความสนใจจะร่วมกันค้นหาคำอธิบายทางทฤษฎีและการอธิบายความรู้ ความหลากหลายของหลักการ และวิธีการของที่ต่างๆ ในยุโรปที่เกี่ยวข้องกับ Social Enterprise, Social Entrepreneurship, Social Economy,Solidarity EconomyandSocial Innovation.             ฌาคส์ เดอโฟร์นี (Jacques Defourny) และมาร์เธ นีส์เสนส์ (Marthe Nyssens) นักวิจัยคนสำคัญของ EMES ได้ประมวลลักษณะของ Social Enterprise ในยุโรปไว้ 5กลุ่มด้วยกัน คือ (1) แบบยุโรปตอนใต้ ที่มีวิวัฒนาการต่อเนื่องมาจากขบวนการสหกรณ์ในอิตาลีและโปรตุเกส เป็นตัวอย่างของการขยายกรอบการบริการจากการทำงานเพื่อตอบสนองต่อสมาชิก เป็นการทำงานเพื่อตอบสนองและร่วมจัดการแก้ไขปัญหาที่รวมไปถึงครอบครัวของสมาชิกและชุมชนของสมาชิก (2) กลุ่มยุโรปตอนกลาง เช่น เบลเยี่ยม ฝรั่งเศส เยอรมัน และไอร์แลนด์ (หรือกลุ่มประเทศที่เรียกว่า Bismarckian countries) มีการจัดตั้งบริษัทเพื่อร่วมจัดการต่อสังคมมาก่อนหน้าแล้ว เป็นบริษัทแบบไม่มุ่งเน้นที่จะแสวงหากำไรเพื่อนำเอากำไรนั้นไปแบ่งปันเป็นรายได้ของผู้ถือหุ้น (Non- profit private organizations) ซึ่งเป็นบริษัทที่เป็นตัวกลางในการบริการทางสังคมและระบบเศรษฐกิจเพื่อร่วมแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจของชุมชนและท้องถิ่นเป็นหลัก (3) กลุ่มประเทศนอร์ดิก ที่รัฐและกิจการเอกชนจะเน้นความรับผิดชอบต่อสวัสดิการสังคม ยิ่งกว่านั้นยังเพิ่มการให้ความสำคัญต่อการขยายบทบาทของสหกรณ์การเกษตร สหกรณ์คนงาน การปฏิรูปกิจการสังคม/พยาบาล และเด็ก (4) ในอังกฤษ เป็นประเทศที่มุ่งพัฒนาให้เป็นไปตามรูปแบบของกิจการแบบกึ่งเศรษฐกิจการตลาด (Quasi- market) กล่าวคือ รัฐบาลสนับสนุนให้องค์กรของรัฐ สังคม และเอกชนที่มุ่งกำไร ร่วมแข่งขันจัดการในเรื่องทางสังคมด้วยวิธีการแข่งขันทางการตลาด ดังจะเห็นได้จากนโยบายการจัดการสาธารณสุขในชุมชนที่รัฐบาลกระจายอำนาจไปให้ท้องถิ่นจัดการ (5) กิจการ Social Enterprise ในยุโรปตะวันออก ซึ่งมุ่งเน้นต่อการรองรับต่อปัญหาการเปลี่ยนผ่านลักษณะอุตสาหกรรมจากอุตสาหกรรมพื้นฐานที่ใช้แรงงานไร้ทักษะเป็นแรงงานที่มีทักษะ ด้วยการส่งเสริมพัฒนาทักษะแรงงานร่วมกับรัฐและภาคธุรกิจ             ด้วยการนิยามคำจำกัดความของ Social Enterprise ที่มีอยู่ด้วยกันหลากหลาย ไปตามคุณลักษณะของปัญหาและบริบททางสังคมของแต่ละประเทศ EMES จึงได้สรุปคุณลักษณะร่วมของ Social Enterprise ว่า เป็นการประกอบการขององค์กรเอกชนแบบไม่แสวงหากำไร (Not – for – profit private organizations) ที่มีองค์ประกอบในมิติทางเศรษฐกิจและการประกอบการ และมิติทางสังคม ร่วมกัน (บางเรื่องจะแตกต่างกันไปตามความจำเป็นและการให้น้ำหนัก) ดังนี้

1)      มิติทางเศรษฐกิจและการประกอบการ 4 ประการ คือ

(1)    ความต่อเนื่องของกิจการการผลิตและ/หรือการขายบริการ

(2)    การดำเนินการด้วยตนเอง – อยู่ในระดับสูง

(3)    คำนึงและรับรู้ในความเสี่ยงทางเศรษฐกิจ

(4)    มีการจ้างงานต้องไม่ต่ำกว่าราคาขั้นต่ำ

2)      มิติทางสังคม 5 ประการ คือ

(1)    กำไรของกิจการเป็นไปเพื่อสนับสนุนต่อสังคม

(2)    ริเริ่มโดยการรวมกลุ่มของพลเมือง

(3)    อำนาจการตัดสินใจไม่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของความเป็นเจ้าของทุน

(4)    การมีส่วนร่วมเป็นคุณสมบัติเบื้องต้น – ผันแปรไปตามกลุ่มกิจกรรม

(5)    จำกัดการแบ่งปันผลกำไร

            อย่างไรก็ตาม คุณลักษณะของ Social Enterpriseที่ประมวลข้างต้น กล่าวได้ว่า เป็นคุณลักษณะร่วมของวิสาหกิจที่ดำเนินงานกันอยู่ในยุโรป ซึ่งโดยส่วนใหญ่เป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว จึงควรที่จะมีการศึกษาเรื่อง Social Enterpriseนี้ที่เกิดขึ้นในพื้นที่อื่นและโดยเฉพาะอย่างในประเทศกำลังพัฒนา   บรรณานุกรม : Defourney,Jacques and Nyssens, Marthe (2010). ‘Conceptions of Social Enterprise and Social Entrepreneurship in Europe and the United States : Convergences and Divergences’, Journal of Social Entrepreneurship, 1-1,32 – 53 pdf_1528082914
Share this

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *