สังคม/ชุมชน

1. ความหมาย

          World Bank ระบุว่า การให้คำนิยามที่มักจะได้รับการอ้างถึงคือการนิยามของ World Business Council Sustainable Development : WBCSD ที่ว่า CSR คือ ความมุ่งมั่นขององค์การธุรกิจที่จะพัฒนาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน โดยดูแลบุคลากรขององค์การรวมไปถึงครอบครัวของบุคลากร ตลอดจนชุมชนและสังคมโดยมุ่งที่จะพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนเหล่านี้ให้ดีขึ้น สถาบันไทยพัฒน์ ซึ่งเป็นองค์กรวิจัยและรณรงค์ในเรื่อง CSR ก็นิยามคำว่า CSR เป็นภาษาไทยว่า “บรรษัทบริบาล” หมายถึง การกำกับกิจการให้เจริญรุดหน้าอย่างมีประสิทธิภาพด้วยเงื่อนไขความถูกต้อง โปร่งใส การมีจริยธรรมที่ดี โดยมุ่งคำนึงถึงผู้มีส่วนได้เสียในกิจการและสังคมโดยรวม

          ความรับผิดชอบของกิจการที่มีต่อสังคมนี้ ไม่ใช่เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับเอกชนเท่านั้น ยังรวมความเกี่ยวข้องกับภาครัฐและประชาสังคม โดยทั่วไปจะให้ความสำคัญต่อปัญหาความยากจน การขาดแคลนโอกาส การไม่มีความมั่นคงทางเศรษฐกิจ และการอยู่ร่วมกับชุมชนและสิ่งแวดล้อม

 

2. การรณรงค์และการสร้างมาตรการ

          แนวคิดว่าด้วย ความรับผิดชอบต่อสังคม หรือ CSR มีการใช้มาก่อนคริสต์ทศวรรษ 1960s จะเห็นได้จากการใช้เป็นกลยุทธ์ทางการตลาดของบางผลิตภัณฑ์ เช่น Body Shop, Ben & Jerry’s และ Patagonia แนวคิดนี้เป็นที่รู้จักแพร่หลายกว้างขวางมากขึ้น ในช่วงการย่างเข้าสู่ศตวรรษที่ 21 ด้านหนึ่ง เป็นเพราะการประกาศใช้  The United Nations Global Compact หรือที่เรียกกันโดยย่อว่า UN Global Compact เมื่อวันที่ 26 มกราคม2000 ขององค์การสหประชาชาติ โดยมีหลักการเบื้องต้น ให้บรรษัทข้ามชาติและกิจการลงทุนต่าง ๆ จะต้องคำนึงถึงหลัก 4 ประการ คือ (1) การเคารพสิทธิแรงงาน (2) สิทธิมนุษยชน (3) การคำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม (สภาวะการเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศของโลก) และ (4)การต่อต้านคอรัปชั่น ต่อมา UN Global Compact ได้ขยายหลักการ 4 เรื่องนี้ให้เป็นแนวปฏิบัติ 10 ประการ แต่ก็ยังอยู่ในกรอบของหลักเบื้องต้นทั้ง 4 เรื่องข้างต้น อีกด้านหนึ่ง เป็นผลมาจากการทำงานแบบเครือข่ายระหว่างภาคส่วนต่าง ๆ ที่ให้ความสำคัญกับการทำงานแบบใหม่ของยุคสมัยโลกาภิวัตน์ โดยที่เครือข่ายเหล่านั้น ได้นำเอาแนวคิดว่าด้วยความรับผิดชอบต่อสังคมไปมีการจัดตั้งองค์กรเพื่อการรณรงค์โดยตรง ส่วนหนึ่ง เช่น การจัดทำแนวปฏิบัติมาตรฐานที่เกี่ยวกับ CSR เช่น ISO 26000 และแนวทางปฏิบัติสำหรับการทำงานร่วมกับผู้มีส่วนได้เสีย SR การจัดทำรายงานผลการประกอบการเพื่อสังคม (CSR Report or Sustainability Report) เป็นต้น อนึ่งปัจจุบัน การชักชวนร่วมการดำเนินงานตาม Sustainable Development Goals : SDGs ซึ่งกำหนดไว้เป็น Agenda 2030 ของ UN ก็ถือได้ว่า มีความเกี่ยวข้องกับงานด้านความรับผิดชอบต่อสังคม

 

3. แนวคิดและทฤษฎี

          การศึกษาเรื่องความรับผิดชอบต่อสังคมในทางสังคมศาสตร์และการบริหารจัดการนั้น มีกรอบความเกี่ยวข้องและการแปรผล ซึ่งเป็นไปอย่างกว้างขวาง ในเบื้องต้นจะเกี่ยวข้องกับ Business ethics, Corporate citizenship, Corporate environmental management, Corporate governance, Corporate sustainability, Health and safety, Poverty and stakeholder theory

          Garriga & Mele(2004)  จัดกลุ่มแนวคิดและทฤษฎี CSR ไว้ 4 กลุ่ม คือ

          (1) กลุ่มที่เน้นการเป็นเครื่องมือทำงานขององค์กร – กลุ่มนี้จะอธิบายถึงการนำเอาแนวคิดว่าด้วย CSR ไปใช้ประกอบในการดำเนินธุรกิจ รับผิดชอบต่อผู้ถือหุ้น สร้างเป็นความสามารถทางการแข่งขันของธุรกิจ และเชื่อมโยงเข้ากับแคมเปญทางการตลาด (2) กลุ่มที่เน้นความเกี่ยวข้องของบริษัทที่มีต่อการปกครองหรือร่วมจัดระเบียบสังคม – กลุ่มนี้จะถือว่าเรื่องของสังคมเป็นเสมือนหนึ่งธรรมนูญที่มีอยู่ในตัวบริษัท รวมเข้ากับแนวคิดแบบสัญญาประชาคม และความเป็นบริษัทในฐานะที่เป็นพลเมืองของสังคม (3) เน้นการแก้ปัญหาทางสังคม – กลุ่มนี้จะให้ความสำคัญต่อความรับผิดชอบต่อกรณีหรือประเด็นเชิงลบ รับผิดชอบต่อสาธารณะ และบริหารจัดการผู้มีส่วนได้เสีย (4) เน้นจริยธรรม – กลุ่มนี้ จะยึดถือเอาเรื่องจริยธรรมเป็นพื้นฐานของการบริหารผู้มีส่วนได้เสีย โยงเข้ากับเรื่องสิทธิต่าง ๆ เรื่องการพัฒนาอย่างยั่งยืน และเรื่องของการรับผิดชอบต่อสินค้าสาธารณะหรือบริการสาธารณะ

          นอกจากการแบ่งกลุ่มข้างต้นแล้ว ยังมีการแบ่งแบบอื่น ๆ อีก เช่น (1) แบบสำนักอาสาสมัคร  – CSR คือ กิจการที่เอกชนอาสาสมัครไปดำเนินการเพื่อร่วมจัดการแก้ไขปัญหาของสังคมและสิ่งแวดล้อม ไม่ใช่งานตามกฎหมายบังคับ (2) แบบดำเนินงานตามกรอบความรับผิดชอบโดยพื้นฐานของความรับผิดชอบของธุรกิจและกำไร โดยยึดตามหลักของการใช้ทรัพยากร (ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม) ตามกฎหมายที่บังคับใช้ (ในแต่ละประเทศ) หรือการจัดแบ่งตามระยะเวลาของวิวัฒนาการของ CSR เป็น 2 ระยะ คือ (1) CSR 1.0 เป็นการทำงานเพื่อสังคมแบบเอกชนบริจาคเพื่อสาธารณกุศล ตั้งอยู่บนความเกี่ยวข้องการบริหารงานความเสี่ยงองค์กร (แบบตั้งรับ) คำนึงถึงภาพลักษณ์องค์กรเป็นหลัก (Image- driven) เจาะจงเฉพาะเรื่องที่เกี่ยวข้อง ทำให้ได้ตามมาตรฐานเป็นพื้นฐาน ทำแบบเหลือเป็นส่วนเหลื่อมแล้วเผื่อให้กับสังคม (2) CSR 2.0 คือ ทำงานเกี่ยวกับความรับผิดชอบต่อสังคมมากกว่าเกณฑ์กำหนด แบบยืนอยู่บนฐานงานรางวัลเป็นพื้นฐานมากกว่าจะทำงานแบบป้องกันแบบจัดการความเสี่ยง เน้นงานบำรุงรักษามาตรฐานองค์กรแทนการทำงานเพื่อภาพลักษณ์องค์กร นับรวมเอาภาคส่วนอื่นมารวมเป็นงานแทนการเจาะจงความเกี่ยวข้อง แปรความสามารถให้เป็นพลังขยายออกไป

 

4. การอธิบายผลผลิตและผลลัพธ์

          ในภาครัฐของไทย มีการรณรงค์เพื่อสร้างความรับผิดชอบต่อสังคมทั้งในกิจการเอกชนและรัฐวิสาหกิจ เช่น กรมโรงโรงงานอุตสาหกรรม รณรงค์เรื่อง CSR DIW เพื่อชักชวนให้โรงงานจัดทำงานตามกระบวนการตามความรับผิดชอบต่อสังคมชุมชน กรมทรัพยากรพื้นฐานและการเหมืองแร่ รณรงค์เรื่อง CSR- DPIM มีการจัดตั้งเป็นเครือข่ายและมีการมอบรางวัลประจำปี ซึ่งจะมีเกณฑ์ว่าด้วยการดำเนินงานที่ควรแสดงความรับผิดชอบในมิติต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับการจัดการสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ และสังคม พร้อมกันนั้น รัฐบาลก็ได้ลงนามรับเอางานมาตรฐานสากลว่าด้วย ISO 26000 มาใช้เป็นแนวปฏิบัติทั่วไปโดยเฉพาะในการทำงานขององค์กรภาคเอกชนและภาครัฐ (โดยเฉพาะอย่างยิ่งรัฐวิสาหกิจ) มีการรณรงค์เพื่อสร้างความรู้ ร่วมพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมร่วมกัน เช่น ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยร่วมกับบริษัทจดทะเบียน – ที่แนะนำให้บริษัทจดทะเบียนจัดทำรายงานความยั่งยืนเปิดเผยต่อสาธารณะควบคู่กับรายงานผลประกอบการ การสร้างเครือข่ายความร่วมมือนักธุรกิจในประเทศ เช่น Thailand Business Council for Sustainable Development : TBCSDการสร้างเครือข่ายระหว่างประเทศ เช่น CSR ASEAN เป็นต้น ซึ่งก็จะเกี่ยวข้องกับการดำเนินงานให้เป็นเกณฑ์ ข้อบ่งชี้ต่าง ๆ ที่ เกี่ยวกับการจัดการสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ และสังคม

          นอกจากนั้น กระทรวงอุตสาหกรรม ยังมีการมีการรณรงค์แสดงความรับผิดชอบต่อสังคมในเกณฑ์หรืองานมาตรฐานอื่น ๆ อีก Green Factory และ Eco Factory ซึ่งเน้นหนักไปยังการจัดการงานสิ่งแวดล้อมของโรงงาน

 

 

รวบรวมเรียบเรียงโดย :CSR Communication Department

 

Share this

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *